สกิลนักสืบ : นักสืบคุณเองก็เป็นได้ (ตอน 1)



ธรรมชาติกำหนดให้มนุษย์มีประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ตา ลิ้น จมูก และกายสัมผัส นักสืบจำต้องใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้ให้คุ้มค่า

การสังเกตจดจำเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอันดับหนึ่งของนักสืบ ความจริงก็ไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษอะไร เพราะทุกคนที่ผ่านการเรียนหนังสือมาก็คงต้องเคยบังคับใจตนเองให้นั่งท่องหนังสืออยู่จนดึกดื่น บางคนก็ท่องไปทำเครื่องหมายไป หรือตามแต่จะสรรหาเทคนิคมาทำให้จำกันได้มากๆ สิ่งเหล่านี้แหละช่วยฝึกฝนให้เรารู้จักจดจำสิ่งต่างๆโดยที่เราไม่รู้ตัว 

การสังเกตโดยปกติของคนเรานั้นอาจเป็นแบบที่เรียกว่า แบบชาวบ้าน คือมองอะไรแค่เพียงผิวเผิน เช่น หากถามว่า กระดุมเสื้อเชิ้ตที่เราใส่ไปทำงานทุกวันมีกี่เม็ด เราคงตอบทันทีไม่ได้ต้องนั่งนึกและตอบออกมาอย่างไม่แน่ใจ แต่นักสืบจะมองแค่ผิวเผินไม่ได้ การสังเกตต้องมีความละเอียด ซับซ้อนมากกว่าธรรดา กับคำถามนี้นักสืบจึงตอบได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ 

ส่วนด้านความจำนั้น เราคงเคยโมโหตัวเองอยู่บ่อยๆ เวลาที่คิดจะทำอะไรในวันนี้วันนั้น แต่แล้วก็ไม่ได้ทำเพราะหลงลืมไป สาเหตุที่ทำให้เราจำไม่ได้เพราะขาดสิ่งกระตุ้นซึ่งมีทั้งสิ่งกระตุ้นภายนอกและสิ่งกระตุ้นภายในร่างกายของเรา

สิ่งกระตุ้นภายนอกก็ได้แก่ภาวการณ์ต่างๆที่มีลักษณะผิดแปลกจากปกติธรรมดาออกไป เช่น เราเห็นผู้หญิงสาวแต่งชุดราตรีมีเครื่องเพชรพร้อม แต่ไปนั่งยองๆกินข้าวต้มอยู่ ความแปลกแยกนี้เป็นตัวกระตุ้นความสนใจได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

สิ่งกระตุ้นภายในก็ได้แก่ ความสนใจส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเป็นคนชอบดูการแข่งขันฟุตบอล ก็จะจำรายชื่อนักกีฬาฟุตบอล ทั้งไทยและต่างประเทศได้แม่นกว่าคนที่ไม่ได้สนใจ เป็นต้น





วันๆหนึ่ง หู ตา ของเราจะได้พานพบกับสิ่งต่างๆผ่านเข้ามามากมาย แต่เราจดจำทุกสิ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทั้งหมด (หากจำได้หมดคงเป็นบ้าแน่) แต่สำหรับคนที่ฝึกหัดประสาทสัมผัสรับรู้ต่างๆได้ดี จะช่วยแยกแยะและจัดระบบความจำได้ดีกว่าคนปกติ ประสาทสัมผัสทั้งห้าของคนเราหากได้รับการฝึกหัดอย่างดีอาจใช้ในการคาดคะเน กะระยะ ขนาดของวัตถุหรือสิ่งของที่อยู่ไกลๆได้ 

โสตสัมผัส การหัดฟังเสียงจากต้นกำเนิด เสียงต่างๆกันและสามารถแยกแยะได้ว่า เสียงไหนเกิดจากอะไร เช่น กรณีที่เราได้ยินเสียงการปะทะกันเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในเหตุการณ์ก็รู้ว่าเขาใช้อาวุธประเภทใด และอยู่ในทิศทางใด เราก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์และพาตัวเองรอดได้ 

จมูกสัมผัส กลิ่นใครคดว่าไม่สำคัญ เอาง่ายๆหากเราบังเอิญได้กลิ่นของเมอร์แคปเทน (Mercaptane) ที่ผสมอยู่ในแก๊สขึ้นมาปุบปัปมันอาจพาให้เราไปพบต้นตอการรั่วของแก๊สได้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น 

ลิ้นสัมผัส สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเวลาตรวจสอบเฮโรอีนของเจ้าหน้าที่ ต้องใช้ลิ้นช่วย รสขมของมันจะช่วยแยกออกจากแป้งและน้ำตาล

สุดท้ายก็คือ กายสัมผัส เมื่อต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถใช้สายตาได้เป็นปกติหรืออยู่ในที่มืด การฝึกหัดการคลำหรือสัมผัสด้วยมือจนชำนาญจะช่วยเราได้ในกรณีนี้

การจะเป็นนักสืบสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ควรตระหนักก็คือ ต้องไม่ปักใจเชื่ออะไรง่ายๆแม้แต่สัมผัสของตนเอง เพราะเราอาจจะอยู่ในสภาวการณ์ที่ล่อแหลมต่อการเกิดความผิดพลาดในการจดจำ 

เช่น ตกอยู่ในสภาวะตื่นเต้น เหนื่อย หิว บางคนอาจมีความบกพร่องทางประสาทสัมผัส เช่น สายตาสั้น ตาบอดสี หูตึง หรือระยะเวลาที่ยาวนานอาจทำให้เราหลงลืมอะไรได้ง่ายๆ ความพิสดารหรือความไม่เคยชินก็มักจะทำให้จำไม่ค่อยได้ เพราะพึ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก และที่ต้องคอยจับตาดูก็เรื่องของจิตใจนี่แหละ หากใจเกิดมีอคติหรือลำเอียงซะแล้วก็อาจเหมาจดจำอะไรผิดพลาดได้เช่นกัน









การสังเกตจดจำใบหน้านั้นเป็นสิ่งที่วิสัยของคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่สำหรับนักสืบแล้วอันดับแรกเมื่อต้องการจะจดจำลักษณะบุคคลจะมองที่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เมื่อสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้แล้วจึงจะมาจดจำใบหน้าต่อไป เพราะใบหน้าอาจถูกอำพรางได้หลายวิธี เช่น ใส่แว่น เปลี่ยนทรงผม ไว้หนวดเครา ส่วนลักษณะนิสัยของคนนั้น บางทีมันบ่งบอกได้จากการแต่งเนื้อแต่งตัว และการเลือกใช้เครื่องประดับ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล

เรื่องของใบหน้าสำหรับนักสืบนั้นต้องมองแบบมีระบบ โดยจะแบ่งการมองออกเป็น 5 ส่วน 

ส่วนที่ 1 คือ ทรงผมและใบหูให้ดูรวมกันไป แล้วจึงไล่มาดูส่วนที่ 2 คือ คาง จากการดูแบบรวดเร็ว 2 ส่วนนี้เราจะรู้ลักษณะรูปหน้าได้ทันที จากนั้นจึงไล่ดูส่วนที่ 3 คือ ตาและคิ้ว เมื่อจดจำได้แล้วก็ไล่ไปจดจำส่วนที่ 4 คือ จมูก และตามด้วยส่วนที่ 5 คือ ปากเป็นส่วนสุดท้าย

ในการสังเกตจดจำลักษณะบุคคลเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ 2 ประการ คือ 

1.จดจำลักษณะเด่น เช่น มีจมูกโด่งมาก ผมดำสวย ใบหน้ารูปไข่ ท่าทางสง่าผ่าเผย เมื่อพบเห็นที่ใดๆก็จำได้ง่าย

2.จดจำลักษณะที่แตกต่างเป็นการสังเกตลักษณะที่ทำให้บุคคลนั้นแตกต่างจากบุคคลอื่น โดยอาจไม่ใช่ลักษณะเด่นก็ได้ เช่น ตาบอด มีแผลเป็นที่แก้ม มือด้วน ขาเป๋ เป็นต้น

นอกจากนักสืบจะสังเกตใบหน้าแล้ว ลักษณะทั่วๆไปก็ไม่ควรละเลย เช่น พวกรอยแผลเป็น หรือตำหนิที่เห็นเด่นชัด หรืออาจจะต้องสังเกตไปถึงลักษณะนิสัยที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว เช่น พูดติดอ่าง พูดสำเนียงแปร่ง เวลาพูดชอบเสยผม ชอบป้องปาก ฯลฯ และลักษณะของการแต่งกายบางครั้งหากเราสังเกตจะช่วยให้จำแนกได้คร่าวๆ ว่าบุคคลนั้นมีฐานะความเป็นอยู่เช่นไร ประกอบอาชีพอะไร








ในการสังเกตวัตถุหรือสิ่งของก็เช่นเดียวกัน คนทั่วไปมักสังเกตแต่เฉพาะรูปทรง สีสัน หรืออาจจะรู้ไปถึงวิธีการใช้งานได้บ้าง แต่ในสายตานักสืบแล้ว เพียงเห็นลักษณะหีบห่อ ก็ต้องพยายามบอกให้ได้ว่าสิ่งของที่อยู่ข้างในควรมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร โดยปกติแล้วัตถุสิ่งของที่มีราคาค่างวด จะมีหมายเลขประจำเครื่องเสมอ 

ถ้าเป็นนักสืบเวลาพบสิ่งของต้องจดหมายเลขเอาไว้เป็นข้อมูล เครื่องใช้ในบ้านของนักสืบเองก็ควรจะจดหมายเลขเก็บเอาไว้ เผื่อมีมือดีมายืมไปใช้ จะได้แจ้งรูปพรรณสัณฐานและหมายเลขเครื่องต่อเจ้าพนักงานได้เวลาไปชี้ของกลางที่สถานีตำรวจ 

ในกรณีที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนน รถยนต์ชนคนแล้วหนี สิ่งแรกที่สายตาของนักสืบจะต้องสังเกตและจดจำไว้ให้ได้ก่อนคือ หมายเลขทะเบียนรถ แล้วจึงค่อยจำยี่ห้อ ชนิดหรือประเภทแล้วตามด้วยสี ตามลำดับ เพราะรถพวกนี้เมื่อก่ออุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น ก็มักจะนำไปปรับแต่งเปลี่ยนรูปไปโดยสิ้นเชิง










การสังเกตและจดจำสถานที่มีส่วนช่วยการสืบได้มาก เมื่อเราไปถึงสถานที่ตั้งของจุดหมายแล้ว ควรระบุตำแหน่งของสถานที่ให้ถูกต้อง จากนั้นจึงดูเจาะลึกเข้าไปเรื่อยๆดูการประกอบ และลักษณะของอาคาร เป็นไม้หรือตึก และที่สำคัญมาก คือ การดูเส้นทางเข้าออก มีทางเข้าออกได้กี่ทาง รถอะไรสามารถเข้าไปได้บ้าง 

การดูทางหนีทีไล่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน อย่างกรณีที่เราต้องเข้าไปพักอาศัยในโรงแรม เราควรเดินตรวจตราทางเข้าออก ทางหนีไฟให้เรียบร้อย เพราะหากบังเอิญเกิดอุบัติเหตุขึ้น เราจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีมากขึ้น โอกาสพาชีวิตรอดก็จะมีสูงขึ้น


ต่อตอน 2 > click


Previous
Next Post »